พี่ประธานตาต้าและตัวแทนคณะกรรมการนักเรียน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ฝ่ายมัธยม มีอะไรจะเล่าให้ฟัง
เช้าวันที่ 23 มิถุนายน 2568 พี่ๆ ประธานมาเล่าให้น้อง ๆ ฟังว่า
นักวิจัยไทยค้นพบ “เทอโรซอร์” ตัวแรกของไทย สัตว์เลี้อยคลานบินได้ร่วมยุคไดโนเสาร์ อายุ 130 ล้านปี
.
(20 มิ.ย. 68) กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยข้อมูล นักวิจัยไทย ดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัยด้านซากดึกดำบรรพ์ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ค้นพบ “การูแดปเทอรัส บุฟโตติ” (Garudapterus buffetauti) เทอโรซอร์ชนิดใหม่ของโลกและเป็นชนิดแรกที่พบในประเทศไทย จากแหล่งซากดึกดำบรรพ์พระปรง จังหวัดสระแก้ว
.
ซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลชิ้นสำคัญ คือส่วนปลายขากรรไกรบนจากชั้นหินหมวดเสาขัว อายุราว 130 ล้านปี แม้เทอโรซอร์ไม่ใช่ไดโนเสาร์เจ้าแห่งพื้นดินแต่โดดเด่นไม่แพ้กันเพราะเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่วิวัฒนาการสามารถบินได้เป็นกลุ่มแรกของโลก ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ตัวเท่านกน้อยไปจนถึงสูงใหญ่เท่ายีราฟ
.
ดร.ศิตะ เปิดเผยว่า การค้นพบชิ้นส่วนกะโหลกของเทอโรซอร์นี้ เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นส่วนกรามบนและค้นพบฟันอีก 5 ซี่ การค้นพบชิ้นส่วนกระโหลกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากสามารถบอกจุดเด่นของของสัตว์ได้มากที่สุด
.
แหล่งซากดึกดำบรรพ์อ่างเก็บน้ำพระปรง จุดเริ่มต้นของการค้นพบชากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเริ่มมีการค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาได้แจ้งพบ
.
ที่มา : กรมทรัพยากรธรณี